แพทย์ปรุงยา, แพทย์ผสมยา, เภสัชกร, หมอยา, การบริบาลเภสัชกรรม

Last updated: 1 ม.ค. 2567  |  5566 จำนวนผู้เข้าชม  | 

แพทย์ปรุงยา, แพทย์ผสมยา, เภสัชกร, หมอยา, การบริบาลเภสัชกรรม

แพทย์ปรุงยา, แพทย์ผสมยา, เภสัชกร, หมอยา, การบริบาลเภสัชกรรม

เภสัชกร (อังกฤษ: pharmacist) คือ ผู้ที่มีวิชาชีพเชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านยา ปฏิบัติหน้าที่อยู่ในระบบสาธารณสุข (health profession) โดยมีหน้าที่ ซักประวัติผู้ป่วยเพื่อการวินิจฉัยโรคเบื้องต้น      เป็นผู้จ่ายยาให้ผู้ป่วย แนะนำการใช้ยา ติดตามการใช้ยาให้ผู้ป่วยและเป็นผู้ผลิตยา เภสัชกรจะต้องเป็นผู้มีความรู้ความสามารถหลายสาขาโดยเฉพาะอย่างยิ่งทางด้านการแพทย์ไม่ว่าจะเป็นทางด้านคลินิก โรงพยาบาลและเภสัชชุมชนซึ่งจะต้องเป็นมาตรฐานเดียวกันทั่วโลก  ทางเลือกหนึ่งของวิชาชีพเภสัชกรคือ การปฏิบัติงานในร้านขายยาซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นเจ้าของร้านเอง (small business) ในงานด้านนี้เภสัชกรนอกจากจะมีความชำนาญในธุรกิจร้านค้าแล้วยังมีความรู้และข้อมูลการใช้ยาทั้งประสิทธิภาพและผลข้างเคียงของยา ตลอดจนการให้ข้อมูลความรู้ การให้คำปรึกษาการใช้ยาแก่ชุมชนด้วย เภสัชกรบางครั้งเรียกว่านักเคมี เพราะในอดีตมีการให้ผู้สำเร็จการศึกษาในวิชาเคมีสาขาเภสัชกรรม (Pharmaceutical Chemistry : PhC) มาเป็นเภสัชกรซึ่งเรียกกันว่านักเคมีเภสัชกรรม (Pharmaceutical Chemists) โดยเฉพาะในประเทศอังกฤษ เช่น เครือข่ายร้านขายยาของบู๊ตส์เรียกเภสัชกรของบู๊ตส์ว่า "นักเคมีบูตส์" (Boots The Chemist)

การศึกษาเภสัชศาสตร์ของประเทศไทย ในสมัยดั้งเดิม เป็นการศึกษาที่สืบเนื่องกันมาในวงศ์ตระกูล มิได้จัดขึ้นเป็นระบบโรงเรียนเช่นปัจจุบัน ความรู้เรื่องยาที่มีสอนกันอยู่นั้น ได้มาจากประสบการณ์ที่สั่งสมกันมาหลายชั่วอายุคน ในเรื่องของยาและแหล่งกำเนิด อันได้แก่ เภสัชวัตถุ (Materia medica) ประกอบ กับการถ่ายทอดความรู้จากอินเดียโดยอาศัยตำราจิกิจฉา อันเป็นองค์ (Volume) หนึ่งของอายุรเวท ซึ่งเป็นอุปเวท หรือคัมภีร์ย่อย (Synopsis) ของคัมภีร์พระเวทอันเป็นอารยธรรมดั้งเดิมของชาวอินเดีย กับความรู้จากชาวจีนที่ได้จากตำราเน่ยจิง มาผสมผสานกันจนเกิดเป็นความรู้ทางเภสัชศาสตร์ของชาติไทยขึ้น ผู้มีความรู้ทางเภสัชศาสตร์ เมื่อเข้ารับราชการในราชสำนัก จะดำรงตำแหน่งพนักงานเครื่องต้น ซึ่งทำหน้าที่ปรุงประกอบพระโอสถถวายองค์พระมหากษัตริย์ คำว่า พนักงานเครื่องต้นจึงตรงกับคำว่าเภสัชกรในปัจจุบัน ตำแหน่งพนักงานเครื่องต้นได้มีตลอดมาในราชสำนัก จนถึงปี พ.ศ. 2427 ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงปรากฏว่าขาดแคลนผู้มีความรู้ความสามารถในการเป็นพนักงานเครื่องต้นและจากการมียาแบบยุโรป หรือที่เรียกว่า "ยาฝรั่ง"เข้ามาแพร่หลายในประเทศไทย โดยมิชชันนารีจากยุโรปและอเมริกา ประชาชนและข้าราชการได้หันไปนิยม "ยาฝรั่ง" และการบำบัดโรคแบบ "ฝรั่ง" กันมาก ประกอบกับความจำเป็นในการปฏิรูปประเทศชาติเพื่อความอยู่รอดจากภัยรุกรานของต่างชาติที่เสาะแสวงหาอาณานิคมอยู่ในขณะนั้น ประเทศไทยจึงต้องเร่งให้การศึกษา โดยจัดตั้งโรงเรียนหลวงขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2414 และตั้งโรงเรียนฝึกหัดวิชาแพทย์ขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2433 ซึ่งได้มีวิวัฒนาการขึ้นเป็นโรงเรียนแพทยากร ราชแพทยาลัย และคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ตามลำดับ
               การศึกษาเภสัชศาสตร์แผนตะวันตกอย่างมีระบบ และเป็นรากฐานของการศึกษาเภสัชศาสตร์ 
แผนใหม่สืบมาจนทุกวันนี้ได้กำเนิดขึ้นในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยพระดำริของสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ ว่า ตามกรมกองทหารบกมีแพทย์ประจำหน่วยพยาบาลอยู่แล้ว แต่ยังไม่มีผู้ที่ได้เรียนและได้รับการอบรมไปประจำอยู่ตามที่จ่ายยาเลย ควรจะตั้งโรงเรียนแพทย์ปรุงยาขึ้นอีกแขนงหนึ่ง และได้ทรงประทานพระดำรินี้ แด่สมเด็จพระเจ้าบรม-วงศ์เธอกรมพระยาชัยนาทนเรนทร (ขณะนั้นดำรงพระอิสริยยศ เป็น พระเจ้าน้องยาเธอ กรมขุน) ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการโรงเรียนราชแพทยาลัย ต่อมาเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ.2456 จึงได้มีประกาศกระทรวงธรรมการ เรื่อง "ระเบียบการจัดนักเรียนแพทย์ผสมยา พ.ศ. 2457" และจัดตั้ง "แผนกแพทย์ปรุงยา โรงเรียนราชแพทยาลัย" ขึ้นเพื่อจัดสอนและฝึกหัดแพทย์ผสมยา ตั้งแต่เทอมต้น ศก 2457 เป็นต้นไป จึงนับได้ว่า สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาชัยนาทนเรนทร เป็น พระบิดาแห่งวิชาชีพทางเภสัชศาสตร์แผนใหม่ การศึกษาเภสัชศาสตร์แผนปัจจุบันจึงได้เริ่มดำเนินการสอนในวันที่ 2 มิถุนายน พ.ศ. 2457 โดยกำหนดคุณสมบัติผู้เข้าศึกษาไว้ว่าจะต้องเป็นผู้ที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป และต้องเป็นผู้ที่สอบไล่ได้มัธยมปีที่ 6 หรือวิชาขั้นต้นได้แล้ว เวลาในการศึกษาจนสำเร็จหลักสูตรมีกำหนด 3 ปี และได้รับ "ประกาศนียบัตรแพทย์ปรุงยา"  ปีแรกรับนักเรียนรุ่นแรกจากนักเรียนแพทย์ปี 1 ที่สนใจเข้ามาเรียน  ปีที่ 2

·        พ.ศ. 2460 ได้มีประกาศกระทรวงธรรมการ ลงวันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2460 ให้รวมโรงเรียนราชแพทยาลัยเข้าในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (ซึ่งประดิษฐานขึ้นเมื่อวันที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2459) การศึกษาเภสัชศาสตร์จึงแปรสภาพเป็นการศึกษาระดับมหาวิทยาลัย

·        พ.ศ. 2462 สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาชัยนาทนเรนทร ได้ทรงย้ายไปดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมสาธารณสุข ทำให้การศึกษาเภสัชศาสตร์หยุดชะงักลง

·        พ.ศ. 2465 ได้มีการรื้อฟื้นการศึกษาเภสัชศาสตร์ขึ้นใหม่ มีการปรับปรุงหลักสูตร โดยความร่วมมือจากเภสัชกรชาวอังกฤษ และมูลนิธิ ร็อคกี้ เฟลเลอร์

·        พ.ศ.2477 ได้มีพระราชบัญญัติจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บังคับใช้วันที่ 7 มีนาคม พ.ศ. 2477 กำหนดให้จัดตั้ง "แผนกอิสสระเภสัชกรรมศาสตร์" ขึ้น และมหาวิทยาลัยมีอำนาจให้ปริญญาบัณฑิตสำหรับวิชาเภสัชกรรมศาสตร์ แต่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมิได้ดำเนินการ จึงยังคงใช้หลักสูตร 3 ปี และเปลี่ยนวุฒิเป็น "ประกาศนียบัตรเภสัชกรรม (ป.ภ.)" เทียบเท่าอนุปริญญา

·       พ.ศ.2479 ได้มีการปรับปรุงและพัฒนาหลักสูตรขึ้นเป็นหลักสูตรระดับ "อนุปริญญาเภสัชกรรมศาสตร์" ระยะเวลา 3 ปีเท่าเดิม เป็นหลักสูตรที่ครอบคลุมเนื้อหาวิชาชีพเภสัชกรรมอย่างกว้างขวาง ตลอดจนนำเอาวิทยาศาสตร์การแพทย์ที่เกี่ยวข้องมาบรรจุเพิ่มเติมในหลักสูตรอีกหลายวิชา โดยเริ่มใช้หลักสูตรใหม่ในปี 2480 ขณะเดียวกันก็มีการแบ่งแยกออกเป็นแผนกวิชาต่าง ๆ ตามกฎหมาย

·       พ.ศ. 2482 ฯพณฯ ดร.ตั้ว ลพานุกรม อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์ และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเศรษฐการในขณะนั้น ได้รับการแต่งตั้งให้มาดำรงตำแหน่งหัวหน้าแผนกอิสสระเภสัชกรรม-ศาสตร์อีกตำแหน่งหนึ่ง ตั้งแต่วันที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2482 ซึ่ง ดร.ตั้ว ลพานุกรม ได้ปรับปรุงและพัฒนาหลักสูตรเภสัชกรรมศาสตร์จนถึงระดับปริญญา (หลักสูตร 4 ปี) มีการจัดการบริหารการศึกษาเภสัชศาสตร์ขึ้นอย่างเต็มรูปแบบ จัดการสร้างอาคารเรียนถาวรของคณะเภสัชศาสตร์ขึ้นเป็นอาคารแรกในบริเวณจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งได้เปิดใช้เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2484 (จนถึงเดือนเมษายนของปี พ.ศ. 2525)

·       พ.ศ. 2485 มีการโอนแผนกอิสสระเภสัชกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ไปสถาปนาขึ้นเป็นคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ (อยู่ในบริเวณจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย)

·       พ.ศ.2494 มีการพัฒนาและเปิดสอนหลักสูตรระดับปริญญาโทของวิชาเภสัชศาสตร์ ผู้สำเร็จการศึกษาได้รับปริญญาเภสัชศาสตรมหาบัณฑิต (ภ.ม.)

·       พ.ศ. 2497 ได้เริ่มดำเนินการพัฒนาหลักสูตรเภสัชศาสตร์ให้ทัดเทียมนานาอารยะประเทศ โดยจัดการศึกษาเป็นหลักสูตร 5 ปี และได้มีผลในการใช้ตั้งแต่ พ.ศ. 2500 ซึ่งเป็นแนวทางของหลักสูตรเภสัชศาสตร์ที่ใช้จนถึงทุกวันนี้

·       พ.ศ. 2507 มีการศึกษาเภสัชศาสตร์ในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยจัดตั้งเป็นแผนกวิชาในคณะแพทยศาสตร์ และดำเนินการแยกออกมาเป็นคณะวิชาอิสระในภายหลัง นับได้เป็นคณะวิชาที่สอง
  พ.ศ. 2508 มีการแยกการจัดการเรียนการสอน โดยให้นักศึกษาเตรียมเภสัชศาสตร์ 2 ปีแรก สังกัดคณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ (ปัจจุบันคือ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล) และมาเข้าสังกัดคณะเภสัชศาสตร์อีก 3 ปี

·       พ.ศ. 2512 ได้มีพระราชบัญญัติเปลี่ยนชื่อมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์เป็นมหาวิทยาลัยมหิดล เมื่อวันที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2512 คณะเภสัชศาสตร์จึงเปลี่ยนนามสังกัดตามพระราชบัญญัตินี้ ขณะเดียวกันก็ได้มีการดำเนินการก่อตั้งคณะเภสัชศาสตร์ขึ้นอีกคณะหนึ่งชื่อว่า คณะเภสัชศาสตร์ (พญาไท) ซึ่งปัจจุบันนี้มีชื่อว่า คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล อยู่ถนนศรีอยุธยา เขตพญาไท (นับเป็นคณะเภสัชศาสตร์คณะที่สาม)

·       พ.ศ. 2515 คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งอยู่ในบริเวณจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และเป็นคณะเภสัชศาสตร์คณะแรก ได้โอนสังกัดกลับมาขึ้นกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 13 เมษายน พ.ศ. 2515 และได้ย้ายอาคารเรียนไปอยู่ ณ บริเวณสยามสแควร์ ปี 2525 จวบจนปัจจุบัน   ขณะเดียวกัน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เริ่มมีการสอนคณะเภสัชศาสตร์ โดยเริ่มรับนักศึกษาปีที่ 1  ในปี พ.ศ. 2507 โดยมีลักษณะเป็นแผนกวิชาหนึ่งในคณะแพทยศาสตร์ และแยกออกมาตั้งเป็นคณะเภสัชศาสตร์ขึ้นในปี พ.ศ. 2515 มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ เปิดคณะเภสัชศาสตร์ขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2519
มหาวิทยาลัยขอนแก่น เปิดคณะเภสัชศาสตร์เมื่อปี พ.ศ. 2523 มหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาเขตพระราชวังสนามจันทร์ เป็นที่ตั้งของคณะเภสัชศาสตร์ คณะที่ 6 ของประเทศไทย โดยได้รับอนุมัติจัดตั้งเมื่อ พ.ศ. 2528 และเริ่มรับนักศึกษาในปีการศึกษา 2529  การก่อตั้งคณะเภสัชศาสตร์เพิ่มขึ้นจนเป็น 6 คณะในปัจจุบัน ทำให้หลักสูตรของแต่ละคณะ มีความแตกต่างกันบ้างในบางส่วน แต่ในโครงสร้างส่วนใหญ่ในด้านวิชาแกนวิชาชีพแล้วมีความคล้ายคลึงกัน ความแตกต่างกันของหลักสูตรในแต่ละคณะวิชาจะอยู่ที่สภาพปัญหาของพื้นที่ที่ตั้ง แนวทางการพัฒนาเป็นสาขาเน้นเฉพาะทาง ฯลฯ
ในปี พ.ศ.2536 และ 2537 จะมีโครงการจัดตั้งคณะเภสัชศาสตร์ ซึ่งเป็นคณะวิชาที่ 7 และที่ 8 ขึ้นในมหาวิทยาลัยนเรศวร และมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี และต่อมาจนปัจจุบัน (3 ม.ค.2561) มีคณะเภสัชศาสตร์ในประเทสไทยทั้งสิ้น  19 มหาวิทยาลัย
  

วิชาชีพเภสัชกรรม หมายความว่า วิชาชีพที่เกี่ยวกับการกระทําในการเตรียมยา การผลิตยา การประดิษฐ์ยา การเลือกสรรยา การวิเคราะห์ยา การควบคุมและการประกันคุณภาพยา การปรุงและการจ่ายยาตามใบสั่งยาของผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม ผู้ประกอบวิชาชีพทันตกรรม หรือผู้ประกอบวิชาชีพการสัตวแพทย์ การปรุงยา การจ่ายยา การขายยา และการดําเนินการตามกฎหมายว่าด้วยยา และกฎหมายอื่น ๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับยา การให้คําแนะนําปรึกษาและการคุ้มครองผู้บริโภคด้านยา รวมทั้ง การดําเนินการหรือร่วมกับผู้ประกอบวิชาชีพด้านการแพทย์และสาธารณสุขในการค้นหา ป้องกันและแก้ไขปัญหาที่เกี่ยวเนื่องกับการใช้ยา  

การศึกษาเกี่ยวกับเรื่องยาบำบัด บรรเทา หรือป้องกันโรคโดยเฉพาะ ซึ่งจะศึกษาตั้งแต่วัตถุดิบที่จะนำมาผลิตยา การปรุงยา การเก็บรักษา ตลอดจนกระบวนการกระจายยา โดยศึกษาตั้งแต่แหล่งของยา โครงสร้างทางเคมีของยา การผลิตเป็นรูปแบบยาเตรียมต่างๆ การควบคุมคุณภาพและการประกันคุณภาพยาและเภสัชภัณฑ์ รวมไปถึงการวิจัยและการพัฒนายาและเภสัชภัณฑ์ ฤทธิ์ทางเภสัชวิทยา เภสัชจลนศาสตร์ เภสัชพลศาสตร์ การใช้ยาทางคลินิกในโรคของระบบต่างๆ อาการไม่พึงประสงค์ของยา การติดตามผลของยา การประเมินการใช้ยา ไปจนถึงการบริหารจัดการเรื่องยาและกฎหมายเกี่ยวกับยา และยังครอบคลุมไปถึงเครื่องสำอาง ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร สารเสพติด สารพิษ และวัตถุหรือสารออกฤทธิ์ประเภทต่างๆ  จะเห็นว่าเรียนทุกขบวนการที่เกี่ยวกับเรื่องยา สำหรับผู้ที่สนใจเรียนคณะนี้จะต้องเป็นผู้ที่มีจิตอาสา สามารถคิด วิเคราะห์ และแสวงหาความรู้อย่างต่อเนื่อง เพื่อผลิตผลงานวิจัยด้านเภสัชศาสตร์ที่มีคุณภาพ และเกิดความร่วมมือกันได้อย่างเต็มที่

 

คุณสมบัติของผู้เข้าศึกษาคณะเภสัชศาสตร์

1. เป็นผู้สำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลายหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2544 หรือหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 หรือ ประกาศนียบัตรอื่นๆที่กระทรวงศึกษาธิการเทียบเท่า สำหรับผู้สมัครที่จบหลักสูตรการศึกษานอกโรงเรียนสายสามัญ ต้องมีคุณสมบัติตามระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการดำเนินงานการศึกษานอก เขตโรงเรียนสายสามัญศึกษา (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2544
2. ต้องไม่เป็นผู้กำลังศึกษาเกินกว่าชั้นปีที่ 1 ในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษาที่ร่วมในการคัดเลือกนี้ เว้นแต่ได้ลาออกจากสถาบันอุดมศึกษานั้นเสียก่อน
3. ผู้สำเร็จการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย สายวิทยาศาสตร์ – คณิตศาสตร์

การสอบเข้าศึกษาคณะเภสัชศาสตร์

·       โดยวิธีสอบ  รับตรงเข้ามหาวิทยาลัยต่างๆ

·       โดยวิธีสอบ  ผ่านกลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย (กสพท.) 4 คณะวิชา

ได้แก่  แพทยศาสตรบัณฑิต เภสัชศาสตรบัณฑิต  ทันตแพทยศาสตรบัณฑิต   สัตวแพทยศาสตรบัณฑิต         

 

คุณสมบัติของเภสัชกร

1. สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีขึ้นไปในสาขาเภสัชศาสตร์

2. มีสุขภาพกายและจิตดี ไม่พิการ ไม่ตาบอดสี มีมนุษย์สัมพันธ์ มีความเป็นผู้นำเพราะอาจทำงานร่วมกับผู้อื่นโดยเฉพาะในงานการผลิต มีบุคลิกภาพดี

3. รักในอาชีพ มีความรับผิดชอบสูง

4. มีความสนใจในวิชาวิทยาศาสตร์, เคมี และ ชีววิทยา และสอบได้คะแนนดีในวิชาเหล่านี้

5. ชอบค้นคว้า ทดลอง ใช้ปัญญาในการวิเคราะห์

6. ละเอียด รอบคอบ ช่างสังเกต

7. มีความซื่อสัตย์

8. ชอบการท่องจำ เพราะต้องจำชนิด ส่วนประกอบของยา ชื่อยาและชื่อสารเคมีในการรักษาโรค ชื่อและประโยชน์ของต้นไม้ที่มียา

ความต้องการขั้นพื้นฐานสำหรับการขึ้นทะเบียน (Registration) เป็นเภสัชกรรับอนุญาตจะต้องเป็น ผู้ที่เรียนจบจากคณะเภสัชศาสตร์ในมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ซึ่งจะได้รับปริญญาดังนี้

·   เภสัชศาสตรบัณฑิต (ภ.บ.) (Bachelor of Pharmacy : B.Pharm.) ปัจจุบันประเทศไทยได้ยกเลิกหลักสูตร B.Pharm แล้ว

·   เภสัชศาสตรบัณฑิต (ภ.บ.) (บริบาลเภสัชกรรม หรือ เภสัชศาสตร์ หรือ สาขาวิทยาการทางเภสัชศาสตร์) (Doctor of Pharmacy : Pharm.D.)

ระยะเวลาที่ใช้ในการศึกษาแตกต่างกันในแต่ละประเทศดังนี้

1. สหภาพยุโรป (European Union) รวมถึงสหราชอาณาจักร เดิมเรียน 4 ปีได้ ภ.บ. (B.Pharm.)

2. ประเทศออสเตรเลีย เดิมใช้เวลา 3 ปี ปัจจุบันเรียน 4 ปี ได้ ภ.บ. (B.Pharm.)

3. สหรัฐอเมริกา เดิมใช้เวลา 4-5 ปี ได้ ภ.บ. (B.Pharm.) ปัจจุบันต้องเรียนหลักสูตรเตรียมเภสัชศาสตร์ ใช้เวลา 2-3 ปี และบางมหาวิทยาลัยต้องเรียนจบปริญญาตรี 4 ปีก่อน จากนั้นจึงเรียนต่อ Doctor of Pharmacy (Pharm.D.) อีก 4 ปี รวมระยะเวลาเรียน 6-8 ปี มีฐานะเทียบเท่ากับ แพทยศาสตรบัณฑิต (พ.บ.) (Doctor of Medicine : MD)

4.  ประเทศไทย ใช้เวลาเรียน 6 ปี ได้วุฒิเภสัชศาสตรบัณฑิต (ภ.บ.) (Doctor of Pharmacy : Pharm.D.)

 

หมายเหตุ   ปัจจุบันในประเทศไทย ในระดับปริญญาตรี คณะวิชาด้านทางการแพทย์ที่เป็นหลักสูตร 6 ปี ได้แก่

·   แพทย์          แพทยศาสตรบัณฑิต          พ.บ.       Doctor of Medicine (MD)  

·   เภสัชกร        เภสัชศาสตรบัณฑิต           ภ.บ.        Doctor of Pharmacy  (Pharm.D.)  

·   ทันตแพทย์    ทันตแพทยศาสตรบัณฑิต     ท.บ.       Doctor of Dental Surgery (D.D.S.)  

·   สัตวแพทย์     สัตวแพทยศาสตรบัณฑิต     สพ.บ.      Doctor of Veterinary Medicine  (D.V.M.)  

หลักสูตรมาตรฐานที่ใช้เรียนในคณะเภสัชศาสตร์ของมหาวิทยาลัยต่าง ๆ มีดังนี้

1. เภสัชภัณฑ์ (Pharmaceutics)

2. วิทยาศาสตร์เครื่องสำอาง (Cosmetic science)

3. เภสัชเคมี (Pharmaceutical chemistry หรือ Medicinal chemistry)

4. เภสัชวิเคราะห์ (Pharmaceutical analysis)

5. เภสัชวิทยา (Pharmacology)

6. เภสัชพันธุศาสตร์ (Pharmacogenetics หรือ Pharmacogenomics)

7. พิษวิทยา (Toxicology)

8. จุลชีววิทยา (Microbiology)

9.  ปรสิตวิทยา (Parasitology)

10. ระบาดวิทยา (Epidemiology)

11. ระเบียบวิธีวิจัยและสถิติ (Research Methodology and Biostatistics)

12. เคมี (Chemistry)

13. ฟิสิกส์ (Physics)

14. คณิตศาสตร์ (Mathematics)

15. ชีวเคมี (Biochemistry)

16.  เภสัชพฤกษศาสตร์ (Pharmaceutical Botany)

17. เภสัชเวท หรือ เภสัชวินิจฉัย (Pharmacognosy)

18. เภสัชอุตสาหกรรม (Industrial Pharmacy)

19. สรีรวิทยา (Physiology)

20. กายวิภาคศาสตร์ (Anatomy)

21. พยาธิวิทยา (Pathology)

22. อายุรศาสตร์ทั่วไป (General medicine)

23. อาหารเคมี (Foods Science)

24. เภสัชกรรม (Pharmacy)

25. กฎหมายยา (Pharmacy Law)

26. เภสัชกรรมสำหรับสัตว์ (Pharmacy Veterinary)

27. เภสัชสาธารณสุข (Pharmacy Public Health)

28. สังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ (Social Science and Humanities)

29. เภสัชจลนศาสตร์ (Pharmacokinetics)

30. เภสัชพลศาสตร์ (Pharmacodynamics)

31. ปฏิบัติการเภสัชกรรม (Pharmacy practice) ประกอบด้วย ปฏิกิริยาระหว่างยา, การติดตามผลการใช้ยา (medicine monitoring) การบริหารการใช้ ยา (medication management), การสัมภาษณ์ ค้นหาและประเมินปัญหาทางสุขภาพของผู้มารับบริการในสถานปฏิบัติการเภสัชกรรมชุมชน เพื่อวินิจฉัยโรคเบื้องต้น วินิจฉัยแยกโรค วินิจฉัยทางเภสัชกรรม (pharmacy diagnosis) และให้การรักษาแก่ผู้ป่วย และ/หรือทำการส่งต่อผู้ป่วยแก่บุคลากรสาธารณสุขเพื่อให้ได้รับการรักษาที่เหมาะสม

32. บริบาลเภสัชกรรม (Pharmaceutical care) บูรณาการด้านการใช้ยากับผู้ป่วย และดูแลติดตามผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด

 

การขออนุญาตใบประกอบวิชาชีพ/ใบประกอบโรคศิลป์

เพื่อให้เกิดความปลอดภัยในการใช้ยาแก่ประชาชนทั่วไป ประเทศต่าง ๆ จึงได้กำหนดบุคคลที่จะมาเป็นเภสัชกรจะต้องถูกฝึกอบรมมาอย่างถูกต้องและพอเพียงโดยการจดทะเบียน ซึ่งผู้ที่ได้รับการจดทะเบียนจะต้องมีคุณสมบัติและผ่านการสอบ ดังนี้
1. ประเทศไทย ผู้ที่ผ่านการศึกษาเภสัชศาสตร์ และต้องการจะได้รับการจดทะเบียนเป็นเภสัชกร ต้องผ่านการสอบรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพเภสัชกรรม จากสภาเภสัชกรรม ก่อน

2. ประเทศอังกฤษ ผู้ที่ผ่านการศึกษาเภสัชศาสตร์และต้องการจะได้รับการจดทะเบียนเป็นเภสัชกร จะต้องฝึกงานทางด้านเภสัชกรรมอย่างน้อย 1 ปี ก่อนสอบรับใบอนุญาตจากสมาคมเภสัชกรรมอังกฤษ (Royal Pharmaceutical Society of Great Britain)

3. สหรัฐอเมริกา ผู้ที่ผ่านการศึกษาเภสัชศาสตร์และต้องการจะได้รับการจดทะเบียนเป็นเภสัชกร จะต้องการสอบ 2 ด่าน ดังนี้

·  การสอบแนปเพลกซ์ (North American Pharmacist Licensure Examination-NAPLEX)

·  การสอบแนบพ์ (National Association of Boards of Pharmacy-NABP)

 

หน้าที่ของเภสัชกร
ส่วนมากเภสัชกรจะพบกับผู้ป่วยในจุดแรกด้วยการสอบถามปัญหาเกี่ยวกับสาธารณสุขพื้นฐานโดยเฉพาะเกี่ยวกับยา การใช้ยา ผลข้างเคียงของยา ฯลฯ ดังนั้นหน้าที่ของเภสัชกรจึงค่อนข้างกว้างซึ่งพอสรุปได้ดังนี้

1. บริหารงานเกี่ยวกับการใช้ยาในทางคลินิก (clinical medication management)

2. การเฝ้าติดตามสถานการณ์ของโรคเฉพาะ (specialized monitoring) ที่เกี่ยวกับยาและผลของยาทั้งโรคธรรมดาและซับซ้อน

3. ทบทวนการใช้ยาอย่างละเอียดถี่ถ้วน (reviewing medication regimens)

4. ติดตามการรักษาโรคอย่างต่อเนื่อง (monitoring of treatment regimens)

5. ติดตามดูแลสุขภาพอนามัยทั่วไปของผู้ป่วย (general health monitoring)

6. ปรุงยา (compounding medicines)

7. ให้คำปรึกษาเกี่ยวกับสุขภาพอนามัยทั่วไป (general health advice)

8. ให้การศึกษาแก่ผู้ป่วยเป็นการเฉพาะ (specific education) เกี่ยวกับสถานการณ์ของโรคและรักษา การบำบัด บรรเทา อาการของโรคด้วยยา

9. ตรวจสอบเพื่อป้องกันความผิดพลาดในการจ่ายยา (dispensing medicines)

10. ดูแลจัดเตรียม(provision)ยาที่ไม่ต้องมีใบสั่งแพทย์(non-prescription medicines)

11. ให้คำปรึกษาและแนะนำผู้ป่วยถึงการใช้ยาให้มีประสิทธิภาพสูงสุด(optimal use of medicines)

12. แนะนำและรักษาโรคพื้นๆทั่วไป(common ailments)

13. ส่งต่อผู้ป่วยไปยังวิชาชีพสาธารณสุขอื่นที่ตรงกับโรคของผู้ป่วยมากกว่าถ้าจำเป็น

14. จัดเตรียมปริมาณยา (dosing drugs) ในผู้ป่วยตับและไตล้มเหลว

15. ประเมินผลการเคลื่อนไหวของยาในผู้ป่วย (pharmacokinetic evaluation)

16. ให้การศึกษาแก่แพทย์ (education of physicians) เกี่ยวกับการใช้ยาอย่างถูกต้อง

17. ร่วมกับวิชาชีพทางด้ายสาธารณสุขอื่นในการสั่งยา (prescribing medications) ให้คนไข้ในบางกรณี

18. ดูแล จัดเตรียม จัดหา และรักษาเภสัชภัณฑ์ให้อยู่สภาพพร้อมใช้งาน (pharmaceutical care)

สาขาวิชาชีพเภสัชกรรม
สาขาวิชาชีพเภสัชกรรมพอจำแนกได้ดังนี้:

·         เภสัชกรคลินิก (Clinical pharmacist)

·         เภสัชกรชุมชน (Community pharmacist)

·         เภสัชกรโรงพยาบาล (Hospital pharmacist)

·         เภสัชกรที่ปรึกษาการใช้ยา (Consultant pharmacist)

·         เภสัชกรสุขภาพอนามัยทางบ้าน (Home Health pharmacist)

·         เภสัชกรบริหารข้อมูลยา (Drug information pharmacist)

·         เภสัชกรสารวัตรยา (Regulatory-affairs pharmacist)

·         เภสัชกรอุตสาหกรรม (Industrial pharmacist)

·         เภสัชกรวิทยาศาสตร์การแพทย์ (Medical science pharmacist)

 

REFERENCE

·         http://www9.si.mahidol.ac.th/

·         Tennessee College of Pharmacy

·         Drake University College of Pharmacy

·         Useful site for practicing pharmacists and students

·         Detailed explanation of the Naplex Available on Pharmacist.com

·         https://en.wikipedia.org/wiki/Master_of_Pharmacy

·         http://oldweb.pharm.su.ac.th/thai/AboutUs/aboutus_04.htm

·         http://www.admissionpremium.com/adplanning/fac?id=20150909095357rL5nGCZ

·         http://pharmacycouncil.org/share/file/file_1598.University_Pharmacy_14122015.pdf

·         http://www.pharmacycouncil.org/

 


เรียบเรียงโดย    ดร.ภก. สมศักดิ์  หลีหลัง 

Dr. Somsak  Leelang:  Ph.D., D.B.A., M.Pharm (SAP),
                                B.Econ (BE), B.Econ (Hons), B.Pharm (Hons).

President and Founder Doctormorya Co., Ltd.




Powered by MakeWebEasy.com